ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณ พ.ศ.2526 และที่แก้ไขเพิ่มเติมฉบับล่าสุด



ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณ พ.ศ.2526 และที่แก้ไขเพิ่มเติมฉบับล่าสุด 

สำหรับท่านที่เคยได้ศึกษากฎหมาย ระเบียบ ต่างๆนั้น อาจพอเข้าใจได้ว่ากรณีที่กฎหมายนั้นได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมหลายครั้ง เราสามารถหากฎหมายฉบับรวม (รวมตั้งแต่ฉบับแรกและที่แก้ไขเพิ่มเติมเข้าด้วยกันเป็นฉบับเดียว) ได้ที่เว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในหัวข้อห้องสมุดกฎหมาย แต่สำหรับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณ พ.ศ.2526 นั้นในขณะที่ผู้เขียนได้ลงข้อมูลคือวันที่ 21 ตุลาคม 2562 ได้สืบค้นข้อมูลแล้วพบว่ามีฉบับที่รวมระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณ พ.ศ.2526 รวมกับ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2548 ซึ่งก็ถือว่าเป็นฉบับรวมที่เกือบสมบูรณ์แล้ว ซึ่งสามารถดาวน์โหลดไปอ่านได้ที่นี่

 ขอทำความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับ "ระเบียบงานสารบรรณ" ดังนี้
  1. ระเบียบที่ถือว่าเป็นระเบียบหลัก หรือระเบียบต้นแบบนั้นคือ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณ พ.ศ.2526 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ในกรณีที่หน่วยงานใดเห็นว่าสามารถปรับใช้ระเบียบดังกล่าวเพื่อให้การปฏิบัติงานเกี่ยวกับงานสารบรรณเกิดประสิทธิภาพ โดยกำหนดเป็นระเบียบงานสารบรรณของหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวง ทบวง กรม ทหาร ตำรวจ ก็สามารถทำได้ โดยหากสืบค้นข้อมูลดูแล้วจะพบว่ามีระเบียบงานสารบรรณของกระทรวงต่างๆอยู่แพร่หลายพอสมควร แต่ ให้เป็นที่เข้าใจว่าระเบียบงานสารบรรณที่เป็นระเบียบหลักนั้นคือระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณ พ.ศ.2526 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งการสอบบรรจุเข้ารับราชการ หรือ พนักงานราชการ หรือลูกจ้าง ของหน่วยงานราชการต่างๆนั้น ย่อมนำเนื้อหาในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณ พ.ศ.2526 และที่แก้ไขเพิ่มเติมนี้นำไปออกข้อสอบ
  2. สำหรับเนื้อหาของ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2560 นั้น เป็นเพียงการแก้ไขเปลี่ยนแปลงตำแหน่งผู้ที่สามารถรับรองสำเนาเอกสาร จากเดิม ผู้ที่สามารถรับรองสำนาเอกสารได้นั้นต้องเป็น ข้าราชการระดับ 2 ขึ้นไป แก้ไขเป็น ข้าราชการประเภททั่วไประดับชำนาญงาน และข้าราชการประเภทวิชาการระดับปฏิบัติการขึ้นไป เหตุผล เนื่องจากปัจจุบันข้าราชการเปลี่ยนแปลงจากระบบซีเป็นระบบแท่ง ข้าราชการระดับ 2 (ซี 2) นั้นโดยทั่วไปของข้าราชการพลเรือนสามัญ รวมทั้งข้าราชการส่วนท้องถิ่นได้เปลี่ยนเป็นประเภททั่วไป (ปฏิบัติงาน,ชำนาญงาน,อาวุโส เป็นต้น) และประเภทวิชาการ (ปฏิบัติการ,ชำนาญการ,ชำนาญการพิเศษ,เชี่ยวชาญ เป็นต้น)
  3. ส่วนราชการใดที่ได้ออกระเบียบงานสารบรรณบังคับใช้ภายในหน่วยงานแล้ว ข้าราชการในหน่วยงานย่อมต้องปฏิบัติตามระเบียบงานสารบรรณที่หน่วยงานนั้นๆประกาศใช้ แต่ถ้าหน่วยงานใดยังมิได้มีการออกระเบียบงานสารบรรณใช้เป็นการภายใน เช่น ราชการส่วนท้องถิ่น (อบต. เทศบาล อบจ.) ย่อมต้องนำระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณ พ.ศ.2526 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาใช้เป็นระเบียบอ้างอิงในปฏิบัติงานสารบรรณภายในหน่วยงานของตน
วันที่อัพเดทข้อมูล 19 ตุลาคม 2562

ติดต่อเรา
Facebook : mangmotv
Blog : mangmo.blogspot.com